ปั๊มลมลูกสูบประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

Last updated: 3 ต.ค. 2566  |  185 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปั๊มลมลูกสูบประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

หลักการทำงานของปั๊มลมลูกสูบ

         การทำงานของเครื่องอัดลมแบบลูกสูบ (Piston Air Compressor) ลูกสูบจะมีการเคลื่อนตัวในแนวดิ่งทำให้เกิดการดูดและอัดภายในกระบอกสูบ โดยที่ช่วงการดูดอากาศ ลิ้นช่องดูดเข้าจะทำการเปิดออกเพื่อดึงอากาศเข้ามาภายในกระบอกสูบ แต่ลิ้นทางด้านอัดอากาศออกจะปิดสนิท จากนั้นเมื่อถึงช่วงการอัดอากาศ ตัวลูกสูบจะดันอากาศให้ออกทางลมออก ทำให้ลิ้นทางลมออกเปิด ส่วนทางลิ้นดูดอากาศก็จะปิดลง เมื่อลูกสูบของเครื่องอัดลมลมขยับขึ้นลงจึงเกิดการดูดและอัดอากาศขึ้น เข้าใจง่ายๆคือ หลักการทำงานของเครื่องอัดลมลูกสูบ จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังมาขับเคลื่อนลูกสูบให้เคลื่อนที่ขึ้นลง ทำให้เกิดแรงดูดและอัดอากาศภายในกระบอกสูบ โดยมีวาล์วทางด้านดูดและวาล์วทางออกทำงานสัมพันธ์กัน และที่สำคัญการใช้งานต้องเลือกขนาดเครื่องอัดลมให้เหมาะสมกับเครื่องมือหรือเครื่องจักร นั่นคือเลือกขนาดแรงม้า แรงดันและปริมาณลมให้เหมาะสมกับการใช้งานนั่นเอง

ส่วนประกอบที่สำคัญของปั๊มลมลูกสูบ

มอเตอร์ (Motor)

มอเตอร์ถือเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนผลิตลมของเครื่องอัดลม เมื่อเราเปิดสวิทช์ปั๊มลม กระแสไฟฟ้าก็จะวิ่งเข้ามอเตอร์ มอเตอร์ก็จะหมุนเพื่อขับเคลื่อนสายพานเพื่อหมุนมู่เลย์ของหัวปั๊มลม

เพรสเชอร์สวิทช์ (PRESSURE SWITCH)

ทำหน้าที่สั่งให้ปั๊มลมทำงาน เมื่อแรงดันในถังลมลดมาถึงจุดต่ำสุดที่ตั้งไว้ และจะตัดลม หรือสั่งหยุดการทำงานเมื่อแรงดันสูงถึงจุดที่ตั้งไว้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถเพิ่มหรือลดแรงดันในการทำงานได้ที่ Pressure Switch

หัวปั๊มลม (AIR COMPRESSOR PUMP)

เป็นส่วนสำคัญเพื่อใช้ในการผลิตลม ภายในหัวปั๊มลมจะมีชิ้นส่วนมากมาย ในการผลิตลม ไม่ว่าจะเป็น วาล์ว ลูกสูบ ก้านสูบ ข้อเหวี่ยง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหัวปั๊มลมแต่ละขนาด ก็จะผลิตลมได้มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกสูบ และขนาดของลูกสูบด้วย

‍หัวปั๊มลมตามมาตรฐาน จะมีขนาดและจำนวนลูกสูบดังนี้

• หัวปั๊มลม ½ แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 51 มม. จำนวน 2 หัว
• หัวปั๊มลม 1 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 65 มม. จำนวน 2 หัว
• หัวปั๊มลม 2 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 65 มม. จำนวน 3 หัว
• หัวปั๊มลม 3 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 80 มม. จำนวน 2 หัว
• หัวปั๊มลม 5 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 80 มม. จำนวน 3 หัว
• หัวปั๊มลม 7.5 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 100 มม. จำนวน 2 หัว
• หัวปั๊มลม 10 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 100 มม. จำนวน 3 หัว
• หัวปั๊มลม 15 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 120 มม. จำนวน 3 หัว

หม้อกรองและไส้กรอง (FILTER INLET ASSEMBLY)

ทำหน้าที่คอยดักฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในบริเวณกระบอกสูบ เพราะเศษฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้จะเข้าไปทำลายลูกสูบ กระบอกสูบ รวมถึงอาจจะไปอุดตันบริเวณวาล์ว ทำให้ปั๊มลมทำงานเสื่อมเร็วขึ้น วิธีดูแลรักษาให้หมั่นแกะหม้อกรองและเอาไส้กรองออกมาเป่าเศษฝุ่นที่เกาะไปออกอยู่เสมอ ควรทำประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

‍เช็ควาล์ว (CHECK VALVE)

‍เช็ควาล์กันกลับ ทำหน้าที่ให้ลมที่ผลิตได้จากหัวปั๊มลมลงสู่ถังพักลม และป้องกันลมจากถังพักลมให้ย้อนกลับเข้าไปในหัวปั๊มลม

เซฟตี้วาล์ว (SAFETY VALVE)

มีหน้าที่ค่อยเป่าลมออกจากถังลม เมื่อแรงดันในถังลมสูงเกินกว่าที่ตั้งไว้ เช่นตั้งแรงดันที่เพรสเชอร์สวิทช์ตัดการทำงานที่แรงดัน 8 บาร์ แต่เพรสเชอร์สวิทช์ไม่ทำงาน ปั๊มลมจึงผลิตลมต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลให้ถังลมระเบิดได้ แต่ถ้าเราตั้งเซฟตี้วาล์วหรือโปโล ไว้ที่แรงดัน 10 บาร์ เซฟตี้วาล์วก็จะโบลว์ลมออกมาจากถัง เพื่อไม่ให้แรงดันสูงเกินไปจนถังลมระเบิดนั่นเอง
‍‍

เพรชเชอร์เกจ์ (PRESSURE GAUGE)

ทำหน้าที่คอยบอกแรงดันที่อยู่ในถังลม โดยจะบอกแรงดันของในในรูปแบบ kg/cm2 (บาร์) และ C.F.M. ปอนด์ โดย มีวิธีแปลงค่าจาก บาร์เป็นปอนด์ หรือ ปอนด์เป็นบาร์ ดังนี้ 1 kg/cm2 = 14.5 psi
1 PSI = 0.068 kg/cm2
‍‍

ตาแมว (OIL SIGHT GLASS)

ตาแมวปั๊มลม มีไว้เพื่อคอยเช็คระดับน้ำมันเครื่องปั๊มลมว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ คุณภาพของน้ำมันเครื่องเป็นอย่างไร ถ้าหากน้ำมันมีสีดำแล้วก็ควรจะถ่ายออกที่ตัวถ่ายน้ำมันที่ติดตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆกับตาแมว

ตัวหายใจ (BREATHER CRANKCASE)

ชิ้นส่วนเล็กๆ แต่สำคัญมาก เพราะตัวหายใจจะช่วยให้มีการไหลเวียนเข้าออกของอากาศภายในหัวเครื่องอัดลม ช่วยลดความร้อนและแรงดัน ถ้าหากเราเอาวัสดุอื่น หรืออุปกรณ์อื่นมาอุดแทน อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่นหัวปั๊มลมระเบิดได้ หรือถ้าตัวหายใจหลุดหาย ก็อาจจะทำให้น้ำมันเครื่องกระเด็นออกมาทางรูหายใจได้

ถังลม (AIR TANK)

เป็นถังเหล็ก ที่มีขนาดและความหนาแตกต่างกันไป ควรสัมพันธ์กับขนาดของหัวปั๊มลม ถ้าหากถังลมมีขนาดเล็กเกินไป ก็อาจจะใช้งานต่อเนื่องได้ไม่นาน แต่ถ้าหากถังลมมีขนาดใหญ่เกินไป ก็อาจจะส่งผลให้ปั๊มลมทำงานหนักและเสียหายก่อนเวลาอันสมควร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้